สัปดาห์ที่ผ่านมา Roots ได้มีโอกาศเข้าร่วมโครงการ “ESG to Capital For Tech Entrepreneurs” จากทาง AIS The Startup เพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจสู่ตลาดทุนในยุค ESG Transition
เราได้เรียนรู้แนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลงทุนตามหลัก ESG พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นใหม่ ๆ ร่วมกันกับเหล่าผู้ประกอบการในการสร้างโอกาสให้ธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงและปรับตัวให้ทันตลาดทุน เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจคือ การเติบโตอย่างยั่งยืน
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับ
การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน
หากพูดถึงเทรนด์การลงทุนที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญไม่น้อยเลยกับกลยุทธ์ ESG การบริหารธุรกิจควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยง 3 มิติ ที่ผู้ประกอบการจะต้องรีบปรับใช้ให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ ESG จะช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนให้กับบริษัท พร้อมสู่การลงทุนในตลาดโลก
ESG คืออะไร?
ESG แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว โดย ESG ย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่รู้จักกันเป็นวงกว้างในกลุ่มนักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ ในแวดวงการเงิน ที่นักลงทุนจะใช้เป็นกรอบเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนที่มากกว่าแค่เรื่องการสร้างฐานลูกค้า
ในปัจจุบันมีหลายบริษัทต่างนำ ESG มาเป็นหลักปฏิบัติในการบริหารงานที่มีความรับผิดชอบกับนักลงทุน นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในการดำเนินงานของบริษัทแบบยั่งยืน และในขณะเดียวกันทางด้านของนักลงทุนเองก็ใช้ ESG เป็นหลักในการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย
หลักการ ESG มีทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ
1. Environmental : สิ่งแวดล้อม
การดำเนินการธุรกิจที่คำนึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ ด้วยการประเมินความเสี่ยงและจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ และลดผลกระทบให้น้อยที่สุด รวมถึงการฟื้นฟูอีกด้วย เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมลพิษ การผลิตของเสีย การลดการใช้กระดาษและไฟฟ้า การรีไซเคิล หรือการจัดการกับพลาสติก เป็นต้น
2. Social : สังคม
การจัดการความสัมพันธ์กับพนักงาน คู่ค้า รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องด้วยความเป็นธรรม ใส่ใจสังคมและชุมชนรอบที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้โอกาสพนักงาน ผู้ที่ด้อยโอกาสและผู้พิการ ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและยืนหยัดในสังคมได้ มีการพิจารณาเวลาทำงานและค่าแรงที่เป็นธรรม เป็นต้น
3. Governance : ธรรมาภิบาล
การควบคุมดูแลเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจที่สามารถตรวจสอบได้รอบด้าน บริษัทมีการจัดการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบข้อมูลไซเบอร์ที่มีความปลอดภัยเปิดเผยได้ ต่อต้านการฉ้อโกงและการทุจริต เป็นต้น
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ได้กำหนดให้ธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ESG จะกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ
แนวคิด ESG ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การขับเคลื่อนธุรกิจเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมก็ยังเป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงต้องร่วมมือกัน บริษัท ทรีนิตี้ รูทส์ จำกัด เราได้ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ดี และจะมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรภายใต้แนวคิดของ ESG ต่อไป
ESG แนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนเพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน